-
กลับไปหน้าแรกข่าว  น่าเป็นห่วง! ไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ผู้สูงอายุในไทยแตะ 17 ล้านคน พบผู้บริโภคเมินวางแผนจัดหาที่อยู่อาศัย
17 ก.พ. 2017

น่าเป็นห่วง! ไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ผู้สูงอายุในไทยแตะ 17 ล้านคน พบผู้บริโภคเมินวางแผนจัดหาที่อยู่อาศัย

เว็บ ไซต์ซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty.com) ภายใต้การบริหารงานของพร็อพเพอร์ตี้กูรู กรุ๊ป เว็บไซต์สื่อกลางด้านการค้นหาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย เผย 6 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสำรวจไม่มีความกังวลใดๆ เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยของตนหลังวัยเกษียณ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีสัดส่วนของประชากรผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป มากที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย และแปซิฟิก  จากการประมาณการพบว่า ในปี พ.ศ.2573 หรืออีก 10 กว่าปีข้างหน้า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบก้าวกระโดด โดยมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 17 ล้านคน จาก 11 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2559 หรือเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 27 ของประชากรทั้งหมด กล่าวคือ จะมีผู้สูงอายุ 1 คน ในประชากรทุกๆ 4 คน นอกจากนี้ยังพบว่า เพียงร้อยละ 25 ของผู้ตอบแบบสำรวจมีความกังวลว่า จะไม่สามารถจ่ายค่าที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมหลังวัยเกษียณให้แก่ตนเอง นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ พบว่า ประชาชนไทยส่วนใหญ่ไม่มีการเตรียมความพร้อมทางด้านการเงินหลังวัยเกษียณ และมักมองข้ามความสำคัญของการออมเงิน และการลงทุนเพื่อใช้จ่ายในวัยหลังเกษียณ ธนาคารโลก หรือ World Bank ได้กล่าวไว้ว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้สังคมไทยมุ่งหน้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือ อัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลงอย่างน่าตกใจ จากร้อยละ 6.1 ในปี พ.ศ.2508 เหลือเพียงร้อยละ 1.5 ในปี พ.ศ.2558  เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่มีการศึกษา และมีฐานะทางการเงินที่ดีขึ้น รวมถึงผลสำเร็จของโครงการวางแผนครอบครัวที่รัฐบาลริเริ่มในปี พ.ศ.2513 ประเทศสิงคโปร์ ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศในทวีปเอเชียที่กำลังรับมือกับสังคมผู้สูงวัย ซึ่งขณะนี้มีจำนวนผู้สูงอายุมากถึง 1 ล้านคน หรือร้อยละ 18 ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 31 ใน พ.ศ.2573 นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ มองว่า จำนวนผู้เกษียณวัยอายุ 62 ขึ้นไป จะเพิ่มขึ้นสูงถึง 900,000 คนในปีเดียวกันนี้ ถึงกระนั้นแล้ว แบบสำรวจผู้ที่อยู่ระหว่างหาซื้อ และผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศสิงคโปร์ พบว่า ร้อยละ 80 ของผู้ทำแบบสำรวจ ไม่เห็นว่าเรื่องชีวิตวัยเกษียณเป็นเรื่องใกล้ตัวที่มีผลกระทบกับพวกเขาใน ปัจจุบัน และส่วนมากยังไม่มองประเด็นเรื่องคุณภาพชีวิต และที่อยู่อาศัยว่าเป็นปัญหาใดๆ เป็นสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย แต่สิ่งที่แตกต่างกัน คือ รายได้เฉลี่ยต่อหัว หรือ GDP per capita ของประเทศสิงคโปร์สูงกว่าประเทศไทย มากถึง 10 เท่า

ที่มา : http://manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9600000016827

วันที่ 17 ก.พ. 60