-
กลับไปหน้าแรกข่าว  เจาะลึก ! นิยามบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ในไทย
17 ก.พ. 2017

เจาะลึก ! นิยามบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ในไทย

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส  ได้รวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคม 2537 พบว่ามีบริษัทพัฒนาที่ดินชั้นนำ พัฒนาที่ดินรวมกันเป็นจำนวนมากทั้งที่พัฒนามาก่อนช่วงเวลาดังกล่าวด้วย  อาจกล่าวได้ว่าที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ของประเทศสร้างโดยภาคเอกชน โดยเฉพาะบริษัทพัฒนาที่ดิน ไม่ใช่ภาครัฐ โดย บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท นับเป็นบริษัทอันดับหนึ่ง โดยพัฒนาในเขตกรุงเทพมหานคร 514 โครงการ รวม 186,113 หน่วย รวมมูลค่า 372,978 ล้านบาท หรือราคาเฉลี่ยหน่วยละ 2.004 ล้านบาท ส่วนในจังหวัดภูมิภาค ไปพัฒนเพียง 29 โครงการ รวม 7,906 หน่วย รวมมูลค่า 20,387 ล้านบาท หรือ หน่วยละ 2.579 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าที่พัฒนาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตั้งแต่ตั้งบริษัทนี้ขึ้นมา ได้พัฒนาไปแล้วทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และจังหวัดภูมิภาครวมทั้งสิ้น 543 โครงการ มีจำนวนมากถึง 194,019 หน่วย รวมมูลค่าถึง 393,364 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยหน่วยละ 2.027 ล้านบาท ทั้งนี้จำนวนหน่วยถึง 96% พัฒนาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่วนอีก 4% พัฒนาในเขตภูมิภาค ส่วนในแง่มูลค่าของโครงการโดยรวม ปรากฏว่า 95% พัฒนาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีเพียง 5% พัฒนาในเขตภูมิภาค ส่วนแลนด์แชมป์สินค้าแพงสุด คือ  บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เป็นบริษัทอันดับที่ 5 แต่เคยเป็นเบอร์ 1 มาก่อนและเป็นรองแชมป์มูลค่าโครงการสูงสุด  ได้พัฒนาโครงการไม่มากนักเมื่อเทียบกับ บมจ.พฤกษาฯ  ทั้งนี้ทั่วประเทศ บมจ.แลนด์ฯ พัฒนาไป 225 โครงการ รวม 63,925 หน่วย รวมมูลค่าสูงถึง 291,115 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงที่สุดเป็นอันดับสองของบริษัทพัฒนาที่ดินไทยทั้งหมด และที่สำคัญ ราคาขายต่อหน่วยของสินค้าของ บมจ.แลนด์ฯ มีค่าสูงสุดคือ 4.554 ล้านบาท ทั้งนี้พบว่า หน่วยขายที่พัฒนามาส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลถึง 89% มีเพียง 11% พัฒนาในภูมิภาค และหากพิจารณาในด้านมูลค่า ปรากฏว่า 90% ของมูลค่าทั้งหมดอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีเพียง 10% ที่อยู่ในภูมิภาค ส่วนแชมป์ภูมิภาค คือ บมจ.แสนสิริ เป็นบริษัทอันดับที่ 3 ในประเทศไทย  แต่สำหรับในภูมิภาคนั้นบริษัทนี้พัฒนาเป็นอันดับหนึ่ง  ดร.โสภณ แจกแจงในรายละเอียดว่าในภูมิภาค แสนสิริพัฒนาไปถึง 46 โครงการ รวม 18,373 หน่วย รวมมูลค่าสูงสุดในบรรดาบริษัทพัฒนาที่ดินทั้งหมดในภูมิภาคคือ 46,138 ล้านบาท  โดยในภูมิภาค พัฒนาสินค้าขายในราคา 2.511 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นระดับราคาปานกลาง  ผิดกับที่พัฒนาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่พัฒนาในราคาสูงกว่า โดยสรุปแล้ว บริษัท 8 ใน 10 แห่งข้างต้นผ่านวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ได้อย่างหวุดหวิด ทุลักทุเล แต่ก็สามารถมายืนเด่นอย่างสง่างาม นับว่าเป็นสิ่งที่น่านับถือ  ที่ผ่านวิกฤติมาได้นั้น ส่วนหนึ่งอยู่ที่ความเก่งอย่างไม่ต้องสงสัย  แต่อีกส่วนหนึ่งอยู่ที่ความเฮงด้วย  หลายบริษัที่ยิ่งใหญ่ในอดีตก็มลายหายไปอย่างน่าเสียดาย  ประสบการณ์ของผู้บริหารบริษัทเหล่านี้น่าศึกษา แต่คงเลียนแบบไม่ได้ แต่มีข้อสังเกตได้ว่าบริษัทมหาชนและบริษัทในเครือราว 40 แห่งสามารถเปิดตัวโครงการได้รวมกันถึง 84% ในปี 2559  เหลือไว้ให้บริษัทนอกตลาดเปิดขายเพียง 16% เท่านั้น  หลายคนจึงเกรงว่าในอนาคตบริษัทยักษ์ใหญ่จะครองส่วนแบ่งตลาด ชี้เป็นชี้ตายอยู่ไม่กี่รายหรือไม่  ข้อนี้ ดร.โสภณ เชื่อว่าคงไม่เกิดขึ้น  เพราะไม่ได้มีรายใดที่โดดเด่นมาก เบอร์ 1 แม้ใหญ่สุด แต่เบอร์ 2 ถึง 10 ก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก  ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นใครต่อใคร (ที่ประสบความสำเร็จในอาชีพอื่น) ก็จะหันหน้ามาพัฒนาที่ดินอีกอย่างแน่นอน

ที่มา : http://www.siamturakij.com

วันที่ 17 ก.พ. 60