-
กลับไปหน้าแรกข่าว  แก้เกมกู้ไม่ผ่าน"เช็กเครดิต"ลูกค้าก่อนจอง "อสังหาฯกลาง-เล็ก"เร่งปรับตัวเอกซเรย์ยิบเงินดาวน์ต้องเป๊ะ
24 ม.ค. 2017

แก้เกมกู้ไม่ผ่าน"เช็กเครดิต"ลูกค้าก่อนจอง "อสังหาฯกลาง-เล็ก"เร่งปรับตัวเอกซเรย์ยิบเงินดาวน์ต้องเป๊ะ

จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา นำไปสู่การเข้มงวดปล่อยสินเชื่อซื้อบ้านและคอนโดมิเนียมของสถาบันการเงิน จนทำให้ยอดปฏิเสธสินเชื่อหรือรีเจ็กต์เรตขยับสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2559 ในขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์หลายรายประเมินตรงกันว่ายังไม่มีแนวโน้มปรับลดลงในปี 2560 นี้ จึงจำเป็นต้องมองหากลยุทธ์รับมือกับสถานการณ์กู้ไม่ผ่านมีอัตราสูง เพื่อให้สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยสำเร็จ ไม่เป็นสต๊อกเหลือขายกลับมาในพอร์ตอีกครั้ง เมื่อเร็วๆ นี้นายอนันต์ อัศวโภคิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ออกมาระบุว่า รีเจ็กต์เรตเป็นปัจจัยลบสำคัญที่สุดในตลาดอสังหาฯปีนี้ โดยเฉพาะตลาดระดับล่างราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท มีลูกค้ากู้ไม่ผ่านสูง 30-50% เป็นผลจากอัตราหนี้เสียของสถาบันการเงินสูงขึ้น ทำให้แบงก์เพิ่มความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อบ้านตลอดปีที่ผ่านมา และน่าจะยังคงความเข้มงวดต่อไปในปีนี้ แนวทางรองรับของดีเวลอปเปอร์ นอกจากเก็บเงินดาวน์สูง 10-15% เพื่อวัดระดับวินัยทางการเงินของลูกค้าแล้ว ควรตรวจสอบประวัติการเงินหรือพรีแอปพรูฟลูกค้าตั้งแต่ก่อนรับจอง โดยอาจร่วมมือกับธนาคารเป็นผู้ตรวจสอบประวัติให้ หากลูกค้าไม่ผ่านการตรวจสอบจะทำให้ประหยัดงบฯดำเนินการ ประหยัดเวลาในการนำอสังหาฯกลับมาขายใหม่หรือรีเซล ส่วนนายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เปิดเผยว่า อัตราปฏิเสธสินเชื่อของกานดาฯอยู่ที่ 19% ต่ำกว่ารีเจ็กต์เรตโดยทั่วไปที่แบงก์ให้ข้อมูลว่ามี 30-40% เนื่องจากใช้กลยุทธ์ให้ลูกค้าพรีแอปพรูฟก่อนรับจองซื้อ ควบคู่ไปกับการสร้างบ้านแบบแบ่งโซนเป็นบ้านสั่งสร้างกับบ้านพร้อมอยู่ โดยบริษัทส่งประวัติลูกค้าให้ธนาคารพิจารณาตั้งแต่ก่อนรับจองหลังพิจารณา ทางด้านนายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.ลลิล พร็อพเพอร์ตี้กล่าวว่า กลยุทธ์รับมือปัญหากู้ไม่ผ่านปีนี้จะสร้างกลไกไฟแนนเชียลคลินิกด้วยการปรับ คอนเซ็ปต์การพัฒนาโครงการจากเดิมเป็นบ้านพร้อมอยู่ทั้งหมดลูกค้าต้องขอกู้ สินเชื่อวงเงิน100%เปลี่ยนเป็นมีบ้านหลายโซน อาทิ บ้านพร้อมอยู่, บ้านระหว่างสร้าง ซึ่งมีทั้งจองซื้อแล้วสร้างเสร็จใน 2-3 เดือน กับสร้างเสร็จใน 5-6 เดือน เพื่อตรวจสอบประวัติการเงินลูกค้าก่อนรับจองว่าเหมาะสมเลือกบ้านแบบใด

ที่มา : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1485148994

วันที่ 24 ม.ค. 60