-
กลับไปหน้าแรกข่าว  เล็งขีดวงแนวรถไฟฟ้า ผังเมืองให้ชั้นในผุดตึกสูงเกิน10เท่าตามแบบญี่ปุ่น
14 ม.ค. 2017

เล็งขีดวงแนวรถไฟฟ้า ผังเมืองให้ชั้นในผุดตึกสูงเกิน10เท่าตามแบบญี่ปุ่น

นายพีระพงศ์ ศิริเกษม รองผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เตรียมเปิดให้บริษัทที่ปรึกษาแข่งขันประมูลงานเพื่อศึกษาปรับปรุงผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครปี 2556 ที่ จะครบกำหนด 5 ปี 2561 ให้สอดรับกับการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะแนวรถไฟฟ้าที่ฉุด ให้ราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้น จนผลักดันให้เอกชนต้องสร้างอาคารที่สูงขึ้นตามต้นทุนที่ดินโดยเฉพาะ คอนโดมิเนียม ทั้งนี้ จะนำรูปแบบการพัฒนาของประเทศญี่ปุ่นมาใช้ คือ จะกำหนดรัศมีรอบรถไฟฟ้าเป็น 2 วง คือ วงที่ 1 รัศมี 250 เมตร สามารถสร้างตึกสูงได้มากเช่น 10 เท่า วงที่ 2 รัศมี 500 เมตรห่างจากรถไฟฟ้า จะลดระดับความสูงลงมา โดยเฉพาะเขตพื้นที่ชั้นในและในรัศมีของถนนวงแหวนรัชดา หรือเฉพาะที่มีรถไฟฟ้าเปิดให้บริการเท่านั้น เพื่อบีบให้คนใช้ขนส่งระบบรางมากขึ้น ซึ่ง เอกชนจะสร้างอาคารสูง-ใหญ่ได้มากขึ้น จากการเปิดให้มีการซื้อขายแลกสิทธิ์พื้นที่ที่ถูกควบคุมความสูง เช่นสนามบิน หรือ พื้นที่สีน้ำตาลอ่อนที่ดินอนุรักษ์อย่างเกาะรัตนโกสินทร์ รัศมี 25 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ไปถึงฝั่งธน ย่านจรัญสนิทวงศ์บางบริเวณ ทั้งที่ ปกติ จะต้องสร้างอาคารได้สูง เช่น 5-8 เท่า เป็นต้น แต่ปัจจุบันสร้างได้แค่ 2.5 เท่าของแปลงที่ดิน หากเอกชนต้องการสร้างอาคารแนวรถไฟฟ้าได้สูงมากกว่าเดิม ก็สามารถซื้อขายสิทธิ์กับเจ้าของที่ดินย่านอนุรักษ์ที่เหลือได้ แต่เกณฑ์การซื้อขายจะให้เป็นไปตามราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ หรือ การใช้สิทธิ์ของโบนัสที่ผังเมืองกทม.ปัจจุบันกำหนดให้สร้างพื้นที่พาณิชย์ ได้อีก 20% จาก เพดานอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (เอฟเออาร์)เดิม หากเอกชนเสียสละที่ดินบางส่วนมอบให้เป็นสาธารณะ อาทิ สร้างสวนสาธารณะ ทางจักรยาน ถนนฯลฯ คาดว่า อีก 2-3 ปีข้างหน้า หากผังเมืองใหม่บังคับใช้ จะสามารถเพิ่มการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าเพิ่มได้โดยเฉพาะอาคารสูง เพราะ จะก่อสร้างเสร็จและเปิดให้บริการ เช่นส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ –คูคต ส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วง แบริ่ง-สมุทรปราการ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วง บางซื่อ-ท่าพระ -หัวลำโพง-บางแค และรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ส่วนรถไฟฟ้าสายอื่นๆจะไม่ปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินพัฒนาอาคารสูงได้ เช่นรถไฟฟ้าสายสีส้ม สายสีชมพู เป็นต้น เนื่องจากเกรงว่า จะส่งผลกระทบต่อสาธารณูปโภค-บริการสาธารณะของกทม. ที่ยังรองรับไม่เพียงพอ ดังนั้น การพัฒนาจะเพิ่มขึ้นได้ จะต้องมีรถไฟฟ้าเปิดให้บริการแล้วเท่านั้น

ที่มา : http://www.thansettakij.com/2017/01/14/124142

วันที่ 14 ม.ค. 60