-
กลับไปหน้าแรกข่าว  อสังหาฯปี60ดีสุดแค่‘ทรงตัว’ จี้รัฐแก้ปัญหาสินเชื่อก่อนวิกฤต
21 พ.ย. 2016

อสังหาฯปี60ดีสุดแค่‘ทรงตัว’ จี้รัฐแก้ปัญหาสินเชื่อก่อนวิกฤต

นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และกรรมการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ฉายภาพธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปี 2560 ว่า ดีที่สุดแค่ “ทรงตัว” เพราะไม่มีปัจจัยบวกที่ดีกว่าปีนี้ มีเพียงโครงการลงทุนโครงข่ายคมนาคมของภาครัฐเท่านั้น ภายใต้เงื่อนไขโครงการต้องเกิดขึ้นจริง ขณะที่ภาคการส่งออกจะมีทิศทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลง ขึ้นอยู่กับนโยบายหลังจาก โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ รวมทั้งผลจากอังกฤษถอนตัวจากสมาชิกสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) หลายบริษัทตั้งความหวังว่าปีหน้าตลาดจะดีขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าปัจจัยพื้นฐานไม่มีอะไรดีขึ้นกว่าเดิม แม้ดอกเบี้ยจะไม่มีการปรับขึ้น แต่เชื่อว่าไม่ลดลง เพราะหากลดดอกเบี้ยลงไปอีก อาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ แม้ดอกเบี้ยจะเอื้อต่อผู้ซื้อบ้าน แต่ถ้าการขอสินเชื่อไม่ง่าย ก็ไม่มีประโยชน์ ส่วนภาพรวมตลาดอสังหาฯ ปีนี้ คาดติดลบมากกว่า 10% หลังจากไตรมาส 4 ตลาดค่อนข้าง ”นิ่ง” จากปกติเป็นไตรมาสที่มีการเปิดโครงการใหม่จำนวนมาก แต่เมื่อสถานการณ์ไม่เอื้อต่อการลงทุน ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เลื่อนเปิดโครงการออกไปปีหน้า ขณะที่โครงการเก่า พบว่ายอดขายชะลอตัว ทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ 2 ด้าน ทั้งยอดขายและยอดโอนกรรมสิทธิ์ อีกเหตุผลหลัก การชะลอตัวของตลาดคอนโดมิเนียม เป็นปัจจัยดึงให้ธุรกิจอสังหาฯ หดตัวลงมาก เนื่องจากคอนโดมีส่วนแบ่งตลาดถึง 70% ซึ่งตลาดคอนโดเป็นความต้องการซื้อในอนาคต สามารถรอได้ ทุกครั้งที่มีความผันผวนตลาดคอนโดจะได้รับผลกระทบก่อนเป็นลำดับแรก เพราะลูกค้า 30-40% เป็นนักเก็งกำไรและนักลงทุน ขึ้นอยู่กับทำเล หากภาวะเศรษฐกิจไม่ดีลูกค้ากลุ่มนี้จะหยุดซื้อ อีก 60% เป็นลูกค้าที่ความต้องการซื้ออยู่จริง แตกต่างจากแนวราบเป็นลูกค้าซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง (เรียลดีมานด์) ตลาดอสังหาฯ โดยรวมชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ตั้งแต่ภาคการเกษตรมีรายได้ตกต่ำ ทำให้การลงทุนในภูมิภาคชะลอตัว ส่งออกไม่ดี ขณะที่เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออก 70% จึงได้รับผลกระทบไปด้วย ส่วนบรรยากาศความเศร้าโศกของคนไทยอาจทำให้การซื้อขายชะลอบ้าง แต่เมื่อปรับตัวได้ ทุกอย่างจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติภายในไตรมาสแรกปีหน้า ดังนั้น จะมีผลต่อยอดขายของผู้ประกอบการ คาดกว่า 70% ทำยอดขายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่ดีมาตั้งแต่ต้นปี ซึ่งมาตรการภาครัฐที่ออกมาช่วยกระตุ้นตลาดไตรมาส 2 เพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ได้ช่วยยอดขายใหม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นการช่วยระบายสต็อกเก่ามากกว่า ขณะเดียวกัน บริษัทส่วนใหญ่จะพลาดเป้าหมายรายได้ เพราะปัญหาลูกค้าถูกปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงิน (Reject) ที่อยู่ในอัตราสูง บางบริษัทอัตราถูกปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้นเกิน 50% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่เคยมีมาก่อน

ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/728336

วันที่ 21 พ.ย. 59