-
กลับไปหน้าแรกข่าว  ภาษีที่ดินฯ ไทยบิดเบือนจากหลักสากลตรงไหน
10 ม.ค. 2020

ภาษีที่ดินฯ ไทยบิดเบือนจากหลักสากลตรงไหน

ผู้เขียนในฐานะที่เคยพารัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี ฯลฯ ในส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปดูงานภาษีทรัพย์สินทั้งในแคนาดา นิวซีแลนด์ มาเลเซีย สหรัฐ ออสเตรเลียและอื่นๆ ได้เห็นกันชัดเจนว่าภาษีทรัพย์สินเขาจัดเก็บกันอย่างไร แต่หลังจากพาไปดูงานแทบทุกปีผ่านมาสิบปี นับสิบๆ หน กลับปรากฏว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของไทยกลับบิดเบือนผิดรูปไปจากหลักสากลทั่วไป กลายเป็นการเอื้อคนรวย คนซวยคือประชาชน อย่างกรณีที่ดินเปล่าที่ทิ้งรกร้างไว้แถวถนนรัชดาภิเษก ห้วยขวาง ไม่เสียภาษีมาหลายสิบปี พอมีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็เริ่มปลูกมะนาว คนร่างกฎหมายก็ร่างว่าถ้าทำการเกษตรก็เสียภาษี 0.01%-0.1% แต่ใน 3 ปีแรกไม่ต้องเสีย ตกลงที่ดินราคา 6,000 ล้านบาทไม่เสียภาษีแม้สักบาทเดียว แต่ชาวบ้านที่มีบ้านหลังที่ 2 ต้องเสียภาษีล้านละ 200 บาท โดยในตอนแรกกำหนดให้บ้านหลังที่ 2 ที่ปล่อยเช่าต้องเสียภาษีในเชิงพาณิชย์ที่ 0.2% หรือล้านละ 2,000 บาท ซึ่งไม่เป็นธรรมเป็นอย่างยิ่งในสังคม พอผู้เขียนและหลายท่านช่วยกัน “โวย” ปลัดกระทรวงการคลังก็เลยออกมาประกาศใหม่ว่าบ้านหลังที่ 2 ที่ปล่อยเช่าก็เก็บในอัตราเดียวกัน ตามหลักกฎหมายภาษีทรัพย์สินนั้น ผู้ที่มีทรัพย์สินราคาสูงก็ต้องเสียภาษีสูง ผู้มีทรัพย์สินมูลค่าต่ำกว่าก็เสียภาษีน้อยกว่า การเสียภาษีก็เพื่อนำมาดูแลบำรุงรักษาทรัพย์สินของเรา อันที่จริงเราก็มีการเก็บสิ่งที่คล้ายภาษีนี้ เช่นการเก็บค่าส่วนกลางเพื่อมาบำรุงรักษา ในชุมชนใดมีการดูแลรักษาดี มูลค่าทรัพย์สินก็เพิ่ม ในชุมชนใดดูแลไม่ดี มูลค่าทรัพย์สินก็ตกหรือไม่เพิ่มขึ้น การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง
ที่มา : www.bangkokbiznews.com/blog/detail/649188