-
กลับไปหน้าแรกข่าว  รถไฟฟ้าสีเหลือง-ชมพูมาแน่! เตรียมชง ครม. หลังให้เอกชนซื้อขบวนรถเอง
7 เม.ย. 2015

รถไฟฟ้าสีเหลือง-ชมพูมาแน่! เตรียมชง ครม. หลังให้เอกชนซื้อขบวนรถเอง

พลเอกยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ด รฟม. เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา บอร์ด รฟม.ได้เห็นชอบให้ปรับรูปแบบการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.50 กิโลเมตร (กม.) วงเงินก่อสร้าง 31,261 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 29.10 กม. วงเงินก่อสร้าง 31,675 ล้านบาท ในรูปแบบพีพีพี เน็ต คอสต์ (PPP Net Cost) โดยให้รัฐเป็นผู้ลงทุนค่าก่อสร้างงาน และส่วนที่เกี่ยวข้อง ส่วนเอกชนจะลงทุนงานระบบรถไฟฟ้า จัดหาขบวนรถ และบริหารเดินรถและซ่อมบำรุง จากเดิม รฟม.มีแผนจะลงทุนจัดหาขบวนรถเอง นอกจากนี้ บอร์ด รฟม. ยังเห็นชอบให้ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กม. วงเงินก่อสร้าง 103,949 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้จะเสนอเรื่องมายังกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอ ครม.ขออนุมัติแหล่งเงินดำเนินโครงการ ด้านนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการรฟม. กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง ซึ่งเป็นระบบรางเดี่ยว (โมโนเรล) เคยเสนอเรื่องให้สำนักงานเลขาธิการ ครม.แล้ว แต่ถูกส่งกลับมาเพื่อขอให้ปรับรูปแบบการบริหารโครงการใหม่ นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ สนับสนุนรูปแบบพีพีพี เน็ต คอสต์ คือให้เอกชนร่วมลงทุนจัดหาขบวนรถด้วย เพื่อประหยัดงบประมาณรัฐบาล จึงได้ให้ปรับรูปแบบการลงทุนในส่วนนี้ และต้องเสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอ ครม.ต่อไป คาดว่าภายในเดือน เม.ย.นี้หรือไม่เกินต้นเดือน พ.ค. จะสรุปรายละเอียดทั้งหมดส่งให้กระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอ ครม.ต่อไป ส่วนความคืบหน้าการบริหารการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระนั้น  ได้เจรจากับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีเอ็มซีแอล ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน เข้ามาบริหารการเดินรถของส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน โดยต้องรอความเห็นจาก สศช. และสำนักงบประมาณก่อน หากไม่มีข้อขัดข้อง คาดจะเสนอให้ ครม.เห็นชอบได้ภายในเดือน เม.ย.นี้ และจะกลับมาเจรจากับบีเอ็มซีแอลได้ อย่างไรก็ตาม การให้บีเอ็มซีแอลดำเนินการต่อ ดีกว่าการเปิดประมูลใหม่ เพราะจะทำได้เร็วกว่า และประหยัดงบประมาณในส่วนของการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงได้ด้วย ขณะที่นายธีระพันธ์ เตชวนิจกุล รองผู้ว่า- การ รฟม. กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ จะมีส่วนที่เป็นโครงสร้างทางยกระดับ 11 กม. และโครงสร้างใต้ดิน 12.6 กม. รวม 17 สถานี แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี ส่วนสถานียกระดับมี 7 สถานี

ที่มา : http://www.thairath.co.th/content/491536

วันที่ 7 เมษายน 2558