-
กลับไปหน้าแรกข่าว  ไม้ในป่าตีค่าอย่างไร
28 มี.ค. 2019

ไม้ในป่าตีค่าอย่างไร

ในรายงานหลักของรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ โครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ที่จัดทำโดย บจก.ครีเอทีฟ เทคโนโลยี เสนอต่อกรมชลประทาน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 ระบุถึงแนวทางการประเมินค่าต้นไม้ไว้ชัดเจน ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจยิ่ง สำหรับการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจป่าไม้ใช้วิธีการประเมิน 2 วิธีคือ วิธีแรกเป็นการประเมินในกรณีการตัดไม้ออกจากพื้นที่โครงการทั้งหมด เพราะต้องนำพื้นที่ไปสร้างเขื่อน และวิธีที่ 2 เป็นการประเมินในกรณีที่ตัดไม้ออกเฉพาะส่วนที่เพิ่มพูนรายปีของไม้ในพื้นที่โครงการ นอกจากนี้ยังคำนวณมูลค่าไม้สุทธิของปีต่างๆโดยกำหนดให้ราคาไม้คงที่ (เท่ากับราคาปัจจุบัน และเงินเฟ้อร้อยละ 12 (ซึ่งอาจสูงเกินจริง-ผู้เขียน) โดยคิดเป็นมูลค่าอีก 50 ปีข้างหน้า ประเด็นสำคัญในการพิจารณาก็คือเรื่องความหนาแน่นของพรรณพืช (Plant density) ซึ่งหมายถึงจำนวนของพรรณไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งต่อหน่วยพื้นที่แห่งหนึ่งหรือต่อปริมาตร ในการศึกษาจะพิจารณาจำนวนต้นไม้ของพืชชนิดนั้นๆต่อหน่วยเนื้อที่หรือต่อแปลงควอเแครทโดยการนับพรรณไม้ในแปลงตัวอย่าง ทั้งนี้ ยังมีการแบ่งต้นไม้เป็น “ไม้ใหญ่” ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่ความสูงเพียงอก (1.3 เมตร) ตั้งแต่ 10 เซนติเมตรขึ้นไป และ “กล้าไม้” คือต้นไม้ที่มีความสูงไม่เกิน 1.3 เมตร ยิ่งกว่านั้นในการศึกษาไม้ในป่ายังต้องศึกษาการแบ่งชั้นความสูงตามแนวดิ่ง (Vertical stratification) อีกด้วย โดยเป็นการศึกษาโครงสร้างของสังคมพืช (Plant community structure) โครงสร้างตามแนวดิ่งนี้มีความสัมพันธ์กับการลดลงของปริมาณแสงสว่างโดยเฉพาะพืชบก ต้นไม้ที่อยู่ในชั้นความสูงที่ต่ำลงมาก็มักจะมีมูลค่าที่น้อยกว่า เพราะโอกาสการเติบโตจะน้อยลงตามไปด้วย ทั้งนี้ ในที่นี้ยังเกี่ยวข้องกับสภาพการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติของต้นไม้ในป่าที่จะประเมินด้วย โดยพิจารณาถึงความหนาแน่นของลูกไม้ หรือต้นไม้ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่ความสูงเพียงอกต่ำกว่า 10 เซนติเมตร และกล้าไม้ (ที่มีความสูงไม่เกิน 1.3 เมตร) นั่นเอง
ที่มา : www.lokwannee.com/web2013/?p=351876