-
กลับไปหน้าแรกข่าว  โสภณ พรโชคชัย: แก้ความจนแบบจีน ที่ไทยทำไม่ได้?
20 ก.พ. 2019

โสภณ พรโชคชัย: แก้ความจนแบบจีน ที่ไทยทำไม่ได้?

เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวว่าทางราชการไทยจะพยายามแก้ปัญหาความยากจนในประเทศไทยโดยศึกษาแบบอย่างจากจีน จีนนั้นทำได้สำเร็จจริง แต่ประเทศไทยทำไม่ได้แน่นอน อย่างน้อยก็ทำไม่ได้ในรัฐบาลชุดนี้ ทำไมเป็นเช่นนั้น ธนาคารโลกเคยประเมินไว้ว่า จีนมีคนยากจนอยู่ราว 500 ล้านคนหรือราว 88% ของคนจีนในปี 2524 แต่ ณ ปี 2555 คนจีนที่มีชีวิตด้วยรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนเหลือเพียง 6.5% เท่านั้น การแก้ไขปัญหาความยากจนเริ่มในราวช่วงปี 2520 และในช่วงปี 2533-2543 ในระยะ 10 ปีนี้รายได้ประชาชาติต่อหัวเพิ่มจาก 6,600 บาทต่อปี เป็น 33,000 บาท ในช่วงปี 2543-2553 เพิ่มขึ้นเป็น 165,000 บาท อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นปีละมากกว่า 10% จีนมุ่งหวังที่จะขจัดความยากจนลงให้ได้ในปี 2573 ส่วนของไทยก็ยังไม่มีแนวโน้มใดๆ สำหรับในชนบทอันไพศาลของจีนนั้น ได้รับการแปลงให้เป็นเมืองมากยิ่งขึ้นผ่านการเชื่อมต่อด้วยรถไฟความเร็วสูง ประชากรในชนบทของจีนเคยมีสูงถึง 84% ในปี 2503 หรือแสดงว่ามีประชากรเมืองเพียง 16% เท่านั้น ปรากฏว่าในปี 2560 ประชากรในชนบทมีสัดส่วนเพียง 42% หรือแสดงว่าประชากรเมืองของประเทศจีนเพิ่มขึ้นเป็นส่วนใหญ่ถึง 58% นั่นเอง จะสังเกตได้ว่าในกรุงปักกิ่งและในนครอื่นๆ มีที่อยู่อาศัยแบบดั้งเดิมที่ดูสภาพคล้ายสลัมหรือชุมชนแออัดอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ในระยะ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้มีการรื้อถอนเพื่อก่อสร้างอาคารใหม่ๆ ขึ้นมากมาย โดยเฉพาะในนครเซี่ยงไฮ้ ถึงกับมีการพูดเล่นกันว่า หากจากบ้านไปเกิน 3 เดือน อาจจำทางเข้าบ้านตนเองไม่ได้ เพราะโดยรอบบ้านเปลี่ยนแปลงไปหมด การพัฒนาขนานใหญ่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรื่องดีๆ ของประเทศจีนดูเป็นเรื่องน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง แต่สำหรับประเทศไทยคงทำได้ยาก หรือแทบจะทำไม่ได้ เพราะมีมารผจญมากมาย อย่างกรณีการย้ายชุมชนแออัดออกไปเพื่อพัฒนาเมืองนั้น คงได้รับการขัดขวางจากพวก NGOs มากมาย พวกนี้มีจำนวนน้อย แต่เสียงดัง และทางราชการมักฟังเสียงผู้ถ่วงความเจริญของชาติเหล่านี้เสียด้วย อันที่จริงเราควรที่จะเอาชุมชนแออัดที่อยู่ในกลางเมือง ซึ่งถือเป็น Prime Location มาพัฒนาใหม่ เอาพื้นที่ส่วนหนึ่งมาสร้างบ้านแนวสูงให้ประชาชนผู้อยู่ในพื้นที่ได้อยู่ จะได้ไม่เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเขามากนัก ทางราชการควรนำพื้นที่ส่วนที่เหลือจากการจัดเป็นที่อยู่อาศัยแนวสูงในเมืองให้ชาวชุมชนแออัดมาพัฒนา
ที่มา : prachatai.com/journal/2019/02/81114?ref=internal_update_title