-
กลับไปหน้าแรกข่าว  เทียบฟอร์ม จีน-ญี่ปุ่น เกมชิงไหวชิงพริบ รถไฟ คสช.
26 ก.พ. 2015

เทียบฟอร์ม จีน-ญี่ปุ่น เกมชิงไหวชิงพริบ รถไฟ คสช.

กำลังเป็นที่จับจ้องสำหรับ "ปฏิกิริยา-แผนปฏิบัติการของ 2 ขั้วพันธมิตร "จีน-ญี่ปุ่น" ยักษ์ใหญ่แห่งวงการรถไฟที่กำลังจะแผ่ขยายอิทธิพลมายังประเทศไทย ภายใต้บทบาทที่ชูไทยให้เป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การขนส่งของภูมิภาคเอเชีย ถึงแม้ไทยมีทำเลที่ตั้งเป็นต้นทุนที่ได้เปรียบ แต่ "ระบบโครงสร้างพื้นฐาน" ยังขาดการลงทุนมานานนับปี จึงเป็นที่มาทำไม "รัฐบาลไทย" ยุค "คสช.-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" ต้องเซ็น MOU กับรัฐบาลจีน พัฒนารถไฟทางคู่ราง 1.435 เมตร เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-มาบตาพุด และแก่งคอย-กรุงเทพฯ 873 กม. และเซ็น MOI กับรัฐบาลญี่ปุ่น สำรวจความเป็นไปได้ระบบรถไฟราง 1 เมตรเดิม และ 1.435 เมตร ทั้งรถไฟความเร็วสูง และรถไฟทั่วไปใน 3 เส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ด้านบนและล่าง ได้แก่ แม่สอด-พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-บ้านไผ่-มุกดาหาร, พุน้ำร้อน-กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ และกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง กับแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้จากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เริ่ม มี.ค.นี้และภายในสิ้นปี "ญี่ปุ่น" ต้องเลือก 1 เส้นทางศึกษารายละเอียดเหมือน "รถไฟไทย-จีน" โดยเส้นทางตะวันออก-ตะวันตกด้านล่างน่าจะเป็นไปได้มากสุด รวมถึงร่วมกับ "ไทย-เมียนมาร์" พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และดึงนักลงทุนอุตสาหกรรมซัพพลายเชนมาลงทุนเขตเศรษฐกิจชายแดน 6 แห่งนำร่อง ได้แก่ ตาก มุกดาหาร ตราด สระแก้ว สงขลา และหนองคาย จึงเป็นเหตุผลทำให้ "ญี่ปุ่น" สนใจสำรวจเส้นทางรถไฟแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกเป็นพิเศษ เพื่อเชื่อมเศรษฐกิจชายแดนไทยกับ 4 ประเทศ "เมียนมาร์-ลาว-กัมพูชา-เวียดนาม" จากจุดเชื่อมโยง ขณะนี้ "จีน-ญี่ปุ่น" กำลังหยั่งเชิงกันเรื่องวางระบบ "อาณัติสัญญาณ" ที่ว่ากันว่าเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาระบบราง เนื่องจากประเทศใดได้ปักธงสร้างรถไฟเป็นสายแรก เท่ากับจะผูกขาดงานระบบรางและซื้อขบวนรถในอนาคต และตรงนี้คือเป้าหมายสูงสุดที่ "จีน-ญี่ปุ่น" อยากมาเปิดตลาดรถไฟที่ประเทศไทย

ที่มา : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1424852548

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558