-
กลับไปหน้าแรกข่าว  เงื้อง่าไฮสปีดเทรน 4 สาย รอ บิ๊กตู่ กดปุ่ม 1.5 ล้านล้าน
19 ก.พ. 2015

เงื้อง่าไฮสปีดเทรน 4 สาย รอ บิ๊กตู่ กดปุ่ม 1.5 ล้านล้าน

โปรเจ็กต์ "รถไฟความเร็วสูง" 4 เส้นทางเชื่อม 4 ภูมิภาค ในยุค "รัฐบาลเพื่อไทย" มูลค่า 783,299 ล้านบาท ถูกหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง หลัง "บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา"กลับจากประเทศญี่ปุ่นและติดใจ "รถไฟชินคันเซ็น" เลยสั่งเหยียบคันเร่ง "ไฮสปีดเทรน" เส้นทางจากกรุงเทพฯไปยังเมืองท่องเที่ยวยอดนิยม ให้ศึกษาแนวคิดสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมกรุงเทพฯกับแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม เช่น หัวหิน พัทยา จะเปิดโอกาสให้เอกชนมีส่วนร่วม อาจจะเป็นการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือเชิญชวนเอกชนทั้งในและต่างประเทศที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมลงทุน ส่วนงบก่อสร้างจะใช้งบประมาณหรือเงินกู้ จะดูรายละเอียดต่อไป และปรับโมเดลใหม่ จากไฮสปีดเทรนเป็น "รถไฟทางคู่รางมาตราฐาน" ความเร็วปานกลาง 160-180 กม./ชม. พร้อมชูเส้นทางเชื่อมจีนตอนใต้จากหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-มาบตาพุดและแก่งคอย-กรุงเทพฯ 873 กม. ที่ MOU กับจีนเป็นโปรเจ็กต์ไฮไลต์ สำหรับสถานะล่าสุดรถไฟความเร็วสูง ทั้ง 4 เส้นทาง  เฟสแรกศึกษาเส้นทางและทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้ว คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมกว่า 1.45 ล้านล้านบาท  เริ่มจากสาย "กรุงเทพฯ-เชียงใหม่" 669 กม. ศึกษาเสร็จแล้วทั้งโครงการ แบ่งเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกกรุงเทพฯ-พิษณุโลก 384 กม. รออนุมัติอีไอเอ มีค่าก่อสร้าง 212,893 ล้านบาท ส่วนเฟส 2 "พิษณุโลก-เชียงใหม่" เพิ่งเคาะแนวเส้นทาง มีระยะทาง 285 กม. เป็นเส้นทางตัดใหม่ช่วงสุโขทัย-ลำปาง ใช้เงินก่อสร้าง 214,005 ล้านบาท สาย "กรุงเทพฯ-หนองคาย" 611 กม. จะเป็นแนวเดียวกับรถไฟไทย-จีน รองรับกับโครงข่ายที่ "จีน" ที่เวียงจันทน์ สำหรับความคืบหน้าเฟสแรก "กรุงเทพฯ-นครราชสีมา" 253 กม. รออนุมัติรายงานอีไอเอ จะใช้เงินลงทุน 176,598 ล้านบาท ส่วนเฟส 2 "นครราชสีมา-หนองคาย" 358 กม. กำลังศึกษาโครงการ คาดว่าจะใช้เงินก่อสร้าง 170,725 ล้านบาท สาย "กรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์" 970 กม. พร้อมที่สุด "กรุงเทพฯ-หัวหิน" 211 กม. รออนุมัติรายงานอีไอเอ ใช้เงินลงทุน 98,399 ล้านบาท สุดท้ายสาย "กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง" ขณะนี้ "ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย" เพิ่งศึกษาโครงการเสร็จ มีแนวเส้นทางพาดผ่าน 4 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง รวม 193.5 กม. ใช้เงินลงทุน 152,000 ล้านบาท จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี 5 เดือน

ที่มา : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1424255789

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558