-
กลับไปหน้าแรกข่าว  มองต่างมุม 'บ้านล้านหลัง' กับดักผู้มีรายได้น้อย
26 พ.ย. 2018

มองต่างมุม 'บ้านล้านหลัง' กับดักผู้มีรายได้น้อย

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหารศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านที่อยู่อาศัย การประเมินค่าทรัพย์สินและการพัฒนาเมือง ให้ความเห็นว่า "บ้านล้านหลัง" เป็นแนวคิดที่ผิด ไม่ควรดำเนินการ เพราะ ณ กลางปี 2561 ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีบ้านรอขายซึ่งเป็นทั้งบ้านแนวราวและห้องชุดที่อยู่ในมือของผู้ประกอบการถึง 180,635 หน่วย รวมมูลค่าสูงถึง 768,454 ล้านบาท เฉลี่ยหน่วยละ 4.199 ล้านบาท บ้านเหล่านี้ไม่ใช่ขายไม่ออก เพียงแต่ ณ วันสำรวจ ยังไม่พบกับผู้ซื้อเท่านั้น หากบ้านเหล่านี้มีผู้อยู่อาศัยประมาณ 3 คนต่อหน่วย ก็เท่ากับสามารถรองรับประชาชนได้ถึง 541,905 คน หรือ 0.8% ของประชากรไทยเลยทีเดียว ดร.โสภณ คาดว่า จำนวนบ้านรอขายทั่วประเทศโดยเมื่อรวมกับต่างจังหวัดด้วยน่าจะมีจำนวนประมาณ 343,207 หน่วย รวมมูลค่าประมาณ 1.05 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยหน่วยละ 3.059 ล้านบาท รองรับประชากรเฉลี่ยครัวเรือนละ 3.2 คน ได้ประมาณ 1,098,262 คนหรือ 1.6% ของจำนวนประชากรไทย ในจำนวน 180,635 หน่วยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังมีห้องชุดราคาไม่เกิน 0.5 ล้านบาท 555 หน่วยรอขายอยู่ ส่วนราคา 0.51-1.0 ล้านบาท มี 4,393 หน่วย โดยส่วนมากเป็นห้องชุดถึง 3,649 หน่วย ยิ่งกว่านั้นยังมีบ้านราคา 1.01-1.5 ล้านบาทจำนวน 10,166 หน่วย ทั้งนี้เป็นห้องชุด 7,248 หน่วย เป็นทาวน์เฮาส์ 2,793 หน่วย นอกนั้นเป็นอื่นๆ โดยนัยนี้รัฐบาลจึงไม่ควรสร้างบ้านประชารัฐ เพราะในตลาดปัจจุบันภาคเอกชนก็สามารถสร้างบ้านให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย หรือรายได้ปานกลางค่อนข้างน้อยได้อยู่แล้ว ควรนำงบประมาณไปพัฒนาประเทศในทางอื่นมากกว่านั่นเอง การทำโครงการ "บ้านล้านหลัง" จึงเพียงช่วยผู้ประกอบการเป็นหลัก ไม่ใช่ช่วยผู้ซื้อบ้าน การให้ผ่อนระยะยาว 40 ปี ก็เพื่อช่วยสถาบันการเงินให้ได้ "ดูดเลือด" ได้นานขึ้น กลับกลายเป็นเสมือน "กับดัก" เป็นการสูญเสียโอกาส (Opportunity costs) ในการไปลงทุนทางอื่นของประชาชนมากกว่าจะเป็นผลดีต่อประชาชน
ที่มา : www.thebangkokinsight.com/67926/