-
กลับไปหน้าแรกข่าว  รื้อภาษีบำรุงท้องที่ ทางออก...ทางตัน คลัง-มหาดไทย
3 ต.ค. 2013

รื้อภาษีบำรุงท้องที่ ทางออก...ทางตัน คลัง-มหาดไทย

เหมือนมีอาถรรพ์ เพราะร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ...ที่รัฐบาลหลายยุคสมัยพยายามผลักดันประกาศใช้แทน พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 และ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ที่บังคับใช้มานาน ทั้งล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันหลายครั้งหลายครา แต่ไม่สำเร็จสักที ถึงยุครัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ซึ่งเข้ามาบริหารประเทศ แม้ ครม. "ยิ่งลักษณ์" จะปรับรื้อระเบียบกฎหมายรื้อโครงสร้างอัตราภาษีหลายประเภท แต่กับร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกลับประกาศชัดเจนว่า ไม่มีนโยบายจะผลักดันข่าวคราวที่มีออกมาบ่อยครั้งว่า กระทรวงการคลังจะปัดฝุ่นชงร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา จึงจบลงแบบหายไปกับสายลมทุกครั้ง แต่มีเซอร์ไพรส์ เมื่อพยายามผลักดันแก้ไขบัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่ ภายใต้ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ โดย ครม.มีมติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2555 มอบหมายให้กระทรวงการคลังกับกระทรวงมหาดไทย ศึกษาหาแนวทางจัดทำราคาปานกลางที่ดินขึ้นใหม่ แทนการใช้ราคาปานกลางที่ดิน ซึ่งเป็นราคาที่ใช้ในการประเมินเสียภาษีบำรุงท้องที่ ประจำปี 2521-2524 หรือเมื่อกว่า 30 ปีก่อน ซึ่งอัตราจัดเก็บต่ำสุด อยู่ที่ไร่ละ 50 สตางค์ สูงสุดไร่ละ 70 บาทเท่านั้น เช่นเดียวกันราคาที่ดินในปัจจุบันเทียบกับราคาช่วงปี 2551-2554 หลังมีการหารือร่วมกันหลายครั้งระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อสรุปว่า แนวทางการจัดทำบัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่ หรือราคาปานกลางของที่ดินใหม่น่าจะดำเนินการโดย 1.การยกเลิก พ.ร.บ.กำหนดราคาปานกลางของที่ดินสำหรับการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2529 2.ไม่เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาให้นำราคาปานกลางของที่ดินที่ใช้อยู่ในการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี2551-2554มาใช้ในการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ปี 2557 3.ให้คลังเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทั้งนี้ ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างดำเนินการตามข้อเสนอแนะของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนเสนอเรื่องทั้งหมดให้ ครม.พิจารณาชี้ขาด 2 ทางเลือก คือ 1.จัดทำบัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่ใหม่ โดยใช้ราคาปานกลางที่ดินใหม่ และ 2.ใช้บัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่เดิม โดยใช้ราคาปานกลางที่ดินปี 2521-2524 ตามเดิม