-
กลับไปหน้าแรกข่าว  อาจารย์กลุ่มหนึ่งผูกขาดผังเมือง
3 ก.ค. 2018

อาจารย์กลุ่มหนึ่งผูกขาดผังเมือง

ผังเมือง กทม. เริ่มใช้ปี 2556 เราก็รู้ว่า กทม. เติบโตไวมาก ควรปรับปรุงอย่างรวดเร็ว ควรมีผังเมืองใหม่มาตั้งแต่ครบ 4 ปี คือในปี 2559-2560 แล้ว แต่นี่ยังไม่มี และจะมีออกมาแบบดูพิกลพิการ เพราะทำโดยคณาจารย์ชุดเก่าๆที่ทำไม่เลิก เรามาช่วยวิพากษ์กัน 1.ตามข่าวว่าสัดส่วนอาคารต่อที่ดิน หรือ Floor Area Ratio (FAR) ได้มากกว่า 10 เท่า แต่จริงๆได้แค่ 10 เท่า 2.ที่บอกว่าให้สร้างตึกสูงได้เฉพาะรอบ 250 เมตร ระยะเท่านี้น้อยเกินไป ปรกติระยะทางในการเดินก็ราว 500 เมตร 3.รอบๆสถานีรถไฟฟ้า เช่น รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ไปสนามบินสุวรรณภูมิ ควรจะมีการจัดรูปที่ดิน เวนคืนที่อยู่ห่างออกไป 2-5 กิโลเมตร แล้วให้สร้างเมืองใหม่ขึ้นมา 4.การซื้อขายสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินในพื้นที่อนุรักษ์ใจกลางเมืองที่ถูกห้ามสร้างสูง ให้ขายให้กับบุคคลอื่นในพื้นที่อื่น เป็นการแก้ไขปัญหาอย่างปัดความรับผิดชอบสิ้นดีของทางราชการหรือไม่ 5.ที่จะปรับให้สร้างได้มากขึ้นตามแนวรถไฟฟ้าก็ปรับเฉพาะบางสาย บางสายก็ไม่ปรับ 6.การสร้างรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์และสายสีแดงที่ต่อไปอาจมี “หมอชิต” ไปอยู่ ก็จะกลายเป็นการขนส่งทั้งคนในตัวเมืองและคนเดินทาง ยิ่งทำให้สับสน น่าสงสารประเทศชาติ ผังเมืองรวมควรเป็นเสมือนแผนแม่บทในการพัฒนาสาธารณูปโภคและการใช้ที่ดินของทุกหน่วยงานในแต่ละพื้นที่ แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการอื่นเท่าที่ควร สิ่งที่กำหนดไว้ในผังเมืองจึงยังไม่ค่อยได้มีการดำเนินการกันอย่างจริงจัง ถนนตามผังเมืองรวมมักไม่ได้ดำเนินการให้แล้วเสร็จตามผังเมืองที่วางไว้ บางเส้นวางแนวไว้ในผังเมืองฉบับก่อนก็ยังไม่ได้ดำเนินการ ดร.โสภณ ขอเสนอให้ 1.การกำหนด Floor Area Ratio (FAR) และ Open Space Ratio (OSR) ควรบังคับใช้ในย่านชานเมือง แต่ในเขตใจกลางเมืองซึ่งที่ดินมีราคาแพงไม่ควรมีการกำหนด 2.ในกรณีอาคารอนุรักษ์ทางประวัติศาสตร์ กรุงเทพมหานครควรดำเนินการโดยเคร่งครัดเพื่อรักษารากฐานทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ 3.ในพื้นที่ใดที่มีการรอนสิทธิ์การพัฒนาที่ดิน ควรมีมาตรการจ่ายเงินทดแทนตามความเหมาะสมในราคาตลาดบวกด้วยค่าความเสียหายอื่น (ถ้ามี) 4.ควรมีการทบทวนกรณีห้ามก่อสร้างในพื้นที่รอบสวนสาธารณะ 5.ในพื้นที่ลาดกระบังและหนองจอกซึ่งกำหนดให้เป็นพื้นที่สีเขียวทแยงและพื้นที่สีเขียว ควรได้รับการแก้ไขใหม่ เพราะในปัจจุบันการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรจริงในเขตลาดกระบังเหลือเพียง 22% เท่านั้น 6.ข้อมูลที่ใช้ในการวางผังเมืองอาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง อนึ่ง สำหรับผู้เชี่ยวชาญที่เป็นผู้จัดทำผังเมืองรวมนี้เป็นคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิที่พึงเคารพยิ่ง อย่างไรก็ตาม ท่านเหล่านี้ได้ดำเนินการจัดทำผังเมืองมาหลายผังแล้ว ซึ่งในแง่หนึ่งก็อาจทำให้เกิดความต่อเนื่อง แต่ในอีกแง่หนึ่งก็อาจเป็นแนวคิดตายตัวแบบเดิมๆ ดังนั้น จึงควรรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆเพื่อให้ผังเมืองมีนวัตกรรม
ที่มา : www.lokwannee.com/web2013/?p=312716