-
กลับไปหน้าแรกข่าว  “อีเวนท์ปลูกป่า” ดราม่าไร้แก่นสาร
26 เม.ย. 2018

“อีเวนท์ปลูกป่า” ดราม่าไร้แก่นสาร

ท่านทราบหรือไม่ว่าปีหนึ่งๆป่าไม้ของไทยถูกทำลายไปประมาณ 1 ล้านไร่ ท่านทราบหรือไม่ว่า 1 ล้านไร่ หรือ 1,600 ตารางกิโลเมตรนั้น กว้างใหญ่ขนาดไหน ถ้าเทียบแล้วก็มีขนาดใหญ่กว่ากรุงเทพมหานครที่มีขนาด 1,568 ตารางกิโลเมตรเสียอีก นายสืบ นาคะเสถียร ได้สละชีวิตของตนเองเพื่อเรียกร้องให้มีการรักษาป่าไม้ แต่เท่ากับท่านสละชีวิตไปสูญเปล่า เพราะป่าไม้ก็ยังหายไปอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้เราไม่ควรอนุโมทนากับการฆ่าตัวตาย แต่สิ่งที่ท่านทำยิ่งใหญ่กว่าที่คุณโจอี้ บอย และคุณสุหฤททำมากมาย ก็ยังช่วยอะไรไม่ได้เลย ประเด็นสำคัญที่พึงพิจารณาก็คือ เจ้าหน้าที่ปล่อยให้มีการตัดไม้ทำลายป่ากันมากมายได้อย่างไร ทำไมไม่ปราบปรามอย่างจริงจัง ที่ผ่านมามักมีข่าวเจ้าหน้าที่หรือ “ผู้มีสี” ฝ่ายต่างๆตัดไม้ทำลายป่ากันมากมาย แต่แทบจับมือใครดมไม่ได้ ดังนั้น การส่งเสริมการปลูกป่าให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไปช่วยกันปลูกอาจทำให้เป็นกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ที่น่ารักน่าชัง แต่ไม่มีประสิทธิผลแต่อย่างใด ป่าที่ปลูกมักตายในเวลาไม่ช้า การปลูกป่าก็ยิ่งไม่ได้ผล ในการแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่านั้น รัฐบาลควรเน้นการปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าด้วยมาตรการทางกฎหมายเป็นสำคัญ ไม่ใช่การให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการปลูกป่า หากฉุกคิดกันสักนิด การส่งเสริมการปลูกป่าอาจเท่ากับเป็นการบิดเบือนประเด็น ทำให้สังคมส่วนรวมไม่มีโอกาสตระหนักถึงความจริงที่ทรัพยากรของประเทศถูกปล้นทำลายลงไปทุกวัน เพราะหลงนึกว่าป่าสามารถปลูกเสริมแทนพอกัน ในขณะที่การปลูกป่ากลายเป็นการมองทางออกของปัญหาแบบ “ม้าลำปาง” ที่กลายเป็นการช่วยไม่นำพา ไม่รบกวนการปล้นทำลายป่าโดยไม่ตั้งใจไป ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้  ดร.โสภณ ขอเสนอแนวทางในการจัดการกับพวกบุกรุกทำลายป่าดังต่อไปนี้ 1.การพิทักษ์ทรัพย์ในเบื้องต้น 2.ส่งฟ้องศาล 3.ทำการประเมินค่าทรัพย์สินที่ดินนี้ให้เหมาะสมกับศักยภาพของที่ดิน 4.จัดการประมูลโดยกรมบังคับคดีหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 5.นำเงินที่ได้จากการประมูลมาใช้เพื่อการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าในขอบเขตทั่วประเทศต่อไป

ที่มา : http://www.lokwannee.com/web2013/?p=304937

วันที่ 26 เม.ย. 61