-
กลับไปหน้าแรกข่าว  อสังหาฯช่วยคนเร่ร่อน(ชรา) / โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย
16 พ.ย. 2017

อสังหาฯช่วยคนเร่ร่อน(ชรา) / โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

การจัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับคนเร่ร่อนเกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ ดร.โสภณ จึงขอพูดถึงเรื่องคนเร่ร่อนซึ่งเป็นประชาชนคนเล็กคนน้อยที่อยู่ชายขอบและแทบไม่มีปากเสียงในสังคม โดยเฉพาะคนชราที่ยากจะช่วยตัวเอง ทุกวันนี้ประชากรไทยมีเกือบ 70 ล้านคน เป็นผู้สูงวัยหรืออายุ 60 ปีขึ้นไปเกือบ 30% หรือ 21 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นคนจนประมาณ 10% หรือ 2.1 ล้านคน อันที่จริงปัญหาคนไร้บ้านหรือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะมักเริ่มต้นที่ปัญหาเศรษฐกิจ คือไม่มีฐานะที่จะอยู่ได้อย่างปรกติสุข บางคนจึงออกมา “ตายเอาดาบหน้า” เป็นคนเร่ร่อนนั่นเอง สังคมควรส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงวัยเช่นในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ การจ้างงานผู้สูงวัยจะทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกมีศักดิ์ศรีที่ยังสามารถดูแลตัวเองได้ ทำให้มีกำลังใจที่จะอยู่เพื่อตัวเองต่อไป ปัญหาที่เกิดขึ้นกับการจ้างงานผู้สูงวัยคือ ผู้สูงวัยมีโอกาสเจ็บป่วยง่ายกว่าคนหนุ่มสาว จึงอาจเป็นภาระแก่นายจ้าง โดยเฉพาะภาคเอกชน ทำให้ในทางปฏิบัติไม่มีการจ้างผู้สูงวัยทำงานเท่าที่ควร การจ้างงานจึงเน้นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านแทน ทั้งที่ประเทศที่ยกตัวอย่างข้างต้นไม่มีการใช้แรงงานต่างด้าวเลย กรณีนี้สิ่งที่ทำได้คือให้รัฐช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการดูแลสุขภาพผู้สูงวัยที่มีการจ้างงาน การดูแลคนไร้ที่พึ่งนั้นสถานสงเคราะห์ต่างๆมักมีคิวยาวมาก เช่น บ้านพักคนชราบางแคให้บริการได้ 150 คน แต่ขณะนี้รอคิว 500 คน บ้านกึ่งวิถีมีพยาบาลวิชาชีพเพียงหนึ่งเดียวแต่ต้องดูแลคนไข้เกือบ 500 คน การบริการจึงไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร อาจกล่าวได้ว่าสถานสงเคราะห์ต่างๆมีไว้เพื่อแสดงว่าประเทศไทยมีระบบสวัสดิการสังคม แต่มีจำนวนน้อยมาก จึงแทบไม่มีสวัสดิการสังคมนั่นเอง รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับคนไร้ที่พึ่งหรือคนไร้บ้านน้อยมาก งบประมาณของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯประมาณ 10,000 ล้านบาท มีสัดส่วนเพียง 0.3% ของงบประมาณแผ่นดินที่สูงถึงปีละ 2.7 ล้านล้านบาท จึงไม่มีเงินเพียงพอที่จะมาใช้จ่ายด้านนี้

ที่มา : http://www.lokwannee.com/web2013/?p=288323

วันที่ 16 พ.ย. 60