-
กลับไปหน้าแรกข่าว  สร้างเขื่อนแม่วงก์คุ้มจริงๆ / โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย
2 พ.ย. 2017

สร้างเขื่อนแม่วงก์คุ้มจริงๆ / โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

มีผู้ถามว่าถ้าสร้างเขื่อนแม่วงก์แล้วจะเอาต้นไม้ในพื้นที่สร้างเขื่อน 12,350 ไร่ไปไว้ที่ไหน ไม่รู้จะคุ้มหรือไม่ คำตอบง่ายๆ ชัดๆ ตรงๆคือ ตัดต้นไม้ครับ ต้นไม้เหล่านี้มีค่าประมาณ 1,073 ล้านบาท ค่าสร้างเขื่อน 13,000 ล้านบาท มากกว่าตั้งมากมาย แสดงว่าเราเสียไปนิดเดียว ที่สำคัญคืออย่าคิดแต่ในแง่ที่เสียไป ต้องมองในแง่ที่ได้มาว่าคุ้มอย่างไรดังนี้  1.จะทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนในลุ่มน้ำแม่วงก์เพิ่มขึ้น 2.สามารถส่งน้ำให้พื้นที่รับประโยชน์ท้ายอ่าง 10,000 ไร่ พื้นที่ชลประทาน 291,900 ไร่ (ฤดูฝน) และในฤดูแล้ง 116,545 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 127 หมู่บ้าน 23 ตำบล 6 อำเภอ 3 จังหวัด 3.ประสิทธิภาพการใช้ที่ดินด้านเกษตรกรรม (Cropping Intensity : CI) เพิ่มขึ้น 40% 4.ยกระดับรายได้เกษตรกรซึ่งสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวในฤดูฝนและเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในฤดูแล้ง 5.เพิ่มผลผลิตด้านสัตว์น้ำและประมงน้ำจืดประมาณปีละ 165 ตัน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจปีละ 7.13 ล้านบาท ทั้งทำให้ระบบนิเวศท้ายน้ำในลำน้ำแม่วงก์มีความสมบูรณ์มากขึ้น 6.อ่างเก็บน้ำสามารถเป็นแหล่งน้ำเพื่อดับไฟป่าในช่วงฤดูแล้งในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ซึ่ง พ.ศ. 2542 เกิดไฟป่าถึง 108 ครั้ง พื้นที่เสียหาย 3,327 ไร่ 7.ทำให้ดินรอบอ่างเก็บน้ำและพื้นที่ชลประทานมีความชุ่มชื้นมากขึ้นโดยเฉพาะในฤดูแล้ง เหมาะกับการเจริญเติบโตของพืชพรรณธรรมชาติ รวมทั้งพืชเกษตรกรรม 8.เป็นแหล่งน้ำและแหล่งอาหารต่อสัตว์ป่า 9.มีน้ำใช้เพื่อการชลประทานและอุปโภคบริโภค รวมทั้งธุรกิจท่องเที่ยว และ 10.สภาพทางสาธารณสุขและภาวะโภชนาการมีแนวโน้มดีขึ้น ที่ผ่านมามีการ “เตะถ่วง” โครงการมาตลอด เช่น พอจะสร้างเขื่อนในปี พ.ศ. 2525 ก็ปรากฏว่า พ.ศ. 2532 ให้ไปศึกษา EIA พ.ศ. 2537 ให้ไปศึกษาทางเลือกพื้นที่อื่น เช่น เขาชนกัน พ.ศ. 2541 ให้ทำประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2546 ให้ศึกษาการจัดการลุ่มน้ำแทนการสร้างเขื่อน และ พ.ศ. 2556 อ้างว่าต้นไม้ในป่าเสื่อมโทรมที่ปลูกฟื้นฟูมามีอายุ 5-18 ปี และไม่มีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรมอย่างที่มีชาวเขา 200 กว่าครัวเรือนเข้าไปอาศัย

ที่มา : http://www.lokwannee.com/web2013/?p=286863

วันที่ 2 พ.ย. 60