-
กลับไปหน้าแรกข่าว  “ดุสิตธานี” ผนึก CPN ปั้นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ จับตา “เจริญ” พลิกเกมที่ดินเตรียมทหาร!
27 มี.ค. 2017

“ดุสิตธานี” ผนึก CPN ปั้นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ จับตา “เจริญ” พลิกเกมที่ดินเตรียมทหาร!

ยังคงเป็นเรื่องโจษจันไม่จางสำหรับโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบผสมขนาด ใหญ่ (Mixed-Use) มูลค่า 3.67 หมื่นล้านบาท ของกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะประกอบไปด้วย 4 โครงการ คือ โรงแรม อาคารที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน และพื้นที่ค้าปลีก โดยมุ่งเน้นในเรื่องการมอบพื้นที่สีเขียวให้โครงการ เพราะพื้นที่การพัฒนาโครงการดังกล่าว คือ ที่ตั้งของ “โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ” จำนวน 19 ไร่ บริเวณหัวมุมถนนสีลม และถนนพระราม 4 ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ซึ่งล่าสุด บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เพิ่งดำเนินการเรื่องการลงนามสัญญากับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อต่อสัญญาการเช่าที่ดินดังกล่าวต่อไปอีก 30 ปี และได้รับสิทธิในการเช่าที่ดินต่อเนื่องอีก 30 ปี โดยให้ระยะเวลาก่อสร้างอีก 7 ปี รวมเป็นทั้งหมด 67 ปี ขณะเดียวกัน สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ยังให้โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เช่าที่ดินเพิ่มจาก 19 ไร่ เป็น 24 ไร่ จึงมิ ใช่เรื่องแปลกที่การพัฒนาโครงการนี้จะเป็นที่สนใจของสังคมด้วยนานาคำถาม ว่าจะมีการยุบรื้อโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ หรือไม่? โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ จะยังคงอยู่ไหม? โครงการใหม่จะอยู่ภายใต้แบรนด์ใดระหว่าง “เซ็นทรัล” กับ “ดุสิตธานี” ?  ว่ากันถึงรายละเอียดของโครงการนี้สำหรับฝั่งผู้นำด้านค้าปลีก คือ “กลุ่มเซ็นทรัล” คงมิใช่เรื่องเหนือความคาดหมายเท่าใดนัก เพราะแต่ละปีมีการใช้เงินลงทุนพัฒนา และขยายสาขาใหม่เป็นจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในปี 2560 CEO ใหญ่ “ทศ จิราธิวัฒน์” ประกาศชัดว่า จะใช้เม็ดเงินถึง 45,534 ล้านบาท ในการสร้างอาคารและอสังหาริมทรัพย์ โดยวางเป้าหมายรายได้รวม 382,200 ล้านบาท! ขณะที่ “กลุ่มดุสิตธานี” ซึ่งกำลังจะฉลองครบรอบ 48 ขวบปี ในด้านการเชี่ยวชาญบริหารจัดการโรงแรมภายใต้ 4 แบรนด์หลัก คือ ดุสิตธานี, ดุสิตดีทู, ดุสิตปริ๊นเซส และดุสิตเดวาราณา กลับมีความแยบคายมากกว่านัก เพราะจากปัจจุบันที่มีการลงทุนเอง 10 แห่ง และรับบริหารจัดการ 19 แห่ง รวมเป็น 29 แห่ง ตั้งเป้าหมายชัดเจนว่า ภายใน 3 ปีจะมีโรงแรมในเครือ 46 แห่งใน 21 ประเทศครอบคลุมทั้งเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา ด้านนางสาวอลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด ฉายภาพว่า การประกาศแผนของดุสิตธานี และเซ็นทรัล เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการขนาดใหญ่รูปแบบมิกซ์ยูส บนที่ดินที่ได้สิทธิการเช่าซื้อ หรือ ลีสโฮลต์ออกไปจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นการตอกย้ำให้เห็นศักยภาพทำเลบนถนนพระราม 4 ที่จะมาแรง และเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ (ซีบีดี) ซึ่งหากพิจารณาไปแล้ว ตรงบริเวณที่ตั้งของโครงการรใหม่ในดุสิตธานี จะเป็น 1 ใน 2 จุด ที่เป็นไพร์มเอเรียล เพราะบริเวณนี้เป็นอินเตอร์เชนจ์การเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารของบีทีเอส และ MRT

ที่มา : http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9600000030814

วันที่ 27 มี.ค. 60