-
กลับไปหน้าแรกข่าว  บทเรียนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ยังไม่ได้หาทางออก
16 พ.ค. 2018

บทเรียนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ยังไม่ได้หาทางออก

วิกฤตเศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์ของไทยในปี 2540 ผ่านมาจนขึ้นปีที่ 21 แล้ว วันนี้ดูเหมือนเราๆท่านๆจะลืมเลือนวิกฤตดังกล่าวไปเสียแล้ว หากเราไม่สรุปบทเรียนให้ชัดเจน โอกาสที่แบงก์จะเจ๊งอีกก็มีไม่น้อย ดร.โสภณ เขียนบทความนี้มา 14 ปีก็ยังทันสมัยอยู่ เตือนให้เห็นถึงวิกฤตที่กำลังจะเกิดในไม่ช้า เพื่อชี้ให้เห็นว่าการประเมินค่าทรัพย์สินโดยธนาคารเองเป็นกุญแจสำคัญนำไปสู่ความเสื่อมและปัญหา ประเด็นสำคัญอันหนึ่งในการทบทวนบทเรียนก็คือ “การประเมินค่าทรัพย์สินที่ไม่ได้มาตรฐานทำให้สถาบันการเงิน ‘เจ๊ง’ จริงหรือ?” บางท่านอาจว่าจริง โดยดูจากกรณีธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ (BBC) และโดยข้อเท็จจริงก็คงเป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะการให้สถาบันการเงินต่างๆเป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินเอง ผลการศึกษาหลังวิกฤตเศรษฐกิจต่างชี้ตรงกัน กรณีที่ทำให้สถาบันการเงิน “เจ๊ง” คงเป็นในกรณีสินเชื่อ (โดยเฉพาะรายใหญ่) ประการแรก ให้สินเชื่อโดยไม่ได้ประเมิน ประการที่สอง ให้สินเชื่อก่อนแล้วจึงค่อยประเมิน (ซึ่งสายไปแล้ว) ประการที่สาม ประเมินโดยคนภายในโดยไม่ยึดหลักบรรษัทภิบาล ประการที่สี่ ร่วมกับผู้ประเมินภายนอกที่ทุจริตและใช้จำนวนผู้ประเมินน้อยราย และประการที่ห้า ประเมินไปโดยไม่รู้ จากข้อมูลการโอนทรัพย์สินให้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) ในช่วงปี 2544-2545 พบว่า มูลหนี้ 400,000 ล้านบาทแรก เป็นของลูกหนี้เพียง 300 ราย และมูลหนี้ทั้งหมด 900,000 ล้านบาท เป็นของลูกหนี้เพียง 2,000 รายเท่านั้น แสดงว่าความเสียหายสำคัญๆเกิดจากลูกหนี้รายใหญ่ ลองคิดดูหากทรัพย์สินเหล่านี้มีการประเมินค่ากันอย่างถูกต้องเป็นธรรมตั้งแต่แรก โอกาสแห่งความเสียหายย่อมแทบไม่มี ประเทศชาติก็คงไม่ต้องเสีย “ค่าโง่” ไปมากมายเช่นนี้ การทุจริตไม่ได้เกิดขึ้นทุกราย เพราะคนส่วนใหญ่ในสังคมเป็นคนดี และการทุจริตที่สะเทือนฐานะของสถาบันการเงินก็มักเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ขนาดใหญ่ นี่จึงนำเรามาสู่ประเด็นที่มุ่ง “จับตา” เฉพาะกรณีมากกว่าการ “เหวี่ยงแห” ความเข้าใจผิดประการหนึ่งของวงการอสังหาริมทรัพย์ก็คือ ราคาที่แจ้งจดทะเบียนซื้อขาย ณ สำนักงานที่ดินนั้น เป็นราคาที่แจ้งเท็จต่ำกว่าความเป็นจริง แต่การณ์กลับเป็นดังตรงกันข้าม ดังนั้น ราคาซื้อขายทรัพย์สินเหล่านี้จึงมีประโยชน์อย่างยิ่งในฐานะ “แปลงเปรียบเทียบ” สมควรอย่างยิ่งที่จะเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ เพื่อผู้ซื้อจะได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินจะได้เห็นความนิยมของผู้ซื้อบ้าน รัฐบาลจะได้เห็นภาวะตลาดที่ทันสมัยเพื่อการกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับความเป็นจริง

ที่มา : http://www.lokwannee.com/web2013/?p=307084

วันที่ 16 พ.ค. 61