-
กลับไปหน้าแรกข่าว  อสังหาฯ ช่วยคนเร่ร่อน (ชรา)
28 พ.ย. 2017

อสังหาฯ ช่วยคนเร่ร่อน (ชรา)

 

เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2560 ดร.โสภณ ได้จัดสัมมนาเกี่ยวกับคนเร่ร่อนในฐานะของประธานมูลนิธิอิสรชน ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์ โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คนจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมถึงอดีตคนเร่ร่อนเอง การจัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับคนเร่ร่อนก็เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ วันนี้ดร.โสภณ จึงขอพูดถึงเรื่องคนเร่ร่อนซึ่งเป็นประชาชนคนเล็กคนน้อยที่อยู่ชายขอบและแทบไม่มีปากเสียงในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มคนเร่ร่อนชราที่ยากที่จะช่วยตัวเองได้ อันที่จริง "ปัญหาของคนไร้บ้านหรือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ มักเริ่มต้นที่ปัญหาทางเศรษฐกิจ" คือไม่มีฐานะเพียงพอที่จะดูแลให้อยู่ได้อย่างปกติสุข บางคนจึงออกมา "ตายเอาดาบหน้า" ด้วยการเป็นคนเร่ร่อนนั่นเอง "สังคมควรส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงวัย" ดังที่พบเห็นในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ การจ้างงานผู้สูงวัย "จะทำให้ผู้สูงวัยมีความรู้สึกมีศักดิ์ศรีที่ยังสามารถดูแลตัวเองได้" ทำให้มีกำลังใจที่จะอยู่สร้างสรรค์และอยู่เพื่อตัวเองต่อไป ในการดูแลคนไร้ที่พึ่งนั้นสถานสงเคราะห์ต่างๆมักมี "คิว" ยาวมาก เช่น บ้านพักคนชราบางแคให้บริการได้ 150 คน แต่ขณะนี้ยังรอคิวต่ออีก 500 คน บ้านกึ่งวิถีมีพยาบาลวิชาชีพเพียงหนึ่งเดียวแต่ต้องดูแลคนไข้ถึงเกือบ 500 คน อย่างนี้การบริการจึงไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร อาจกล่าวได้ว่าสถานสงเคราะห์ต่างๆ มีไว้เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีระบบสวัสดิการสังคม  แต่โดยที่มีจำนวนน้อยมากจึงแทบเท่ากับไม่มีสวัสดิการสังคมเท่าที่ควรนั่นเอง ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยและการสร้างสังคมผู้สูงวัยที่ยังช่วยตัวเองได้นี้อาจจะเป็นการลงทุนของผู้สูงวัยเอง ในการเช่าซื้อที่อยู่อาศัยประเภทนี้และยังสามารถขายต่อได้เพื่อนำเงินไปรักษาแม้ยามเจ็บป่วยหนัก เป็นต้น การดำเนินการในเชิงพาณิชย์และผสมกับระบบสวัสดิการสังคมบ้าง เพราะจะทำให้เกิดความเป็นไปได้ทางการเงินในการสร้างอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยได้ในจำนวนที่มากขึ้น และกระจายได้ทั่วถึงมากขึ้นด้วย ส่วน "ภาคเอกชนและภาคประชาชน" ก็ยังสามารถมีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อผู้สูงวัยโดยถือเป็น "กิจกรรมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม" (Corporate Social Responsibility หรือ CSR) การแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะทำให้มีความเป็นไปได้ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยในสังคมได้อย่างกว้างขวาง และเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับประเทศอื่นได้

ที่มา : http://www.naewna.com/likesara/305903

วันที่ 28 พ.ย. 60