-
กลับไปหน้าแรกข่าว  3 ปีราคาอาหารเพิ่ม 33.2%! / โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย
18 พ.ค. 2017

3 ปีราคาอาหารเพิ่ม 33.2%! / โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

ดร.โสภณ ได้สำรวจราคาอาหารใจกลางเมืองที่ถือเป็นดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของ ประเทศ โดยทำการสำรวจทุกรอบครึ่งปีรวม 11 ครั้งคือ เดือนพฤษภาคมและพฤศจิกายนของทุกปีตั้งแต่พฤษภาคม 2555 จนถึงปัจจุบัน สำรวจเฉพาะพื้นที่สีลม-สุรวงศ์ที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจของประเทศที่มีคนทำงาน จำนวนมาก โดยมีสมมุติฐานว่าราคาอาหารย่านนี้น่าจะเป็นราคามาตรฐาน เพราะเป็นใจกลางเมือง ส่วนบริเวณอื่นๆน่าจะถูกกว่า ยกเว้นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ผลการสำรวจโดยสรุปพบว่า ราคาอาหาร เช่น ข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยว เพิ่มขึ้นจาก 31.0 บาทในเดือนพฤษภาคม 2555 เป็น 31.8 บาทในเดือนพฤษภาคม 2556 เดือนพฤษภาคม 2557 เพิ่มเป็น 34.3 บาท และ 36.1 บาทในเดือนพฤศจิกายน 2557 กลายเป็น 38.4 บาทในเดือนพฤษภาคม 2558 เป็น 40.0 บาทในเดือนพฤศจิกายน 2558 เป็น 41.7 บาทในเดือนพฤษภาคม 2559 เป็น 43.1 บาทในเดือนพฤศจิกายน 2559 และล่าสุด (พฤษภาคม 2560) เป็น 45.7 บาท หากคิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นในรอบ 6 เดือนล่าสุด (พฤศจิกายน 2559-พฤษภาคม 2560) ราคาอาหารเพิ่มขึ้นไม่มากนักคือ 3.4% แต่ก็ปรับตัวสูงกว่าภาวะเงินเฟ้อ เมื่อประเมินจากภาพรวมสะสม 5 ปี (พฤษภาคม 2555-2560) ราคาเพิ่มจาก 31.0 บาท เป็น 45.7 บาท หรือเพิ่มขึ้น 47.5% หากคิดเป็นการเพิ่มขึ้นต่อปีก็เท่ากับประมาณ 8.1% ต่อปี ซึ่งถือว่าสูงพอสมควร เพราะสูงกว่าอัตราภาวะเงินเฟ้อ ราคาอาหารล่าสุด ณ เดือนพฤษภาคม 2560 เป็นเวลา 3 ปีหลังรัฐประหารเพิ่มขึ้น 33.2% หรือเพิ่มขึ้นปีละ 10% ถือว่าสูงขึ้นมากพอสมควร หากเทียบกับก่อนรัฐประหารช่วงเดือนพฤษภาคม 2555-2557 ปรากฏว่าราคาอาหารเพิ่มขึ้นเพียง 10.7% หรือปีละ 5.2% ต่ำกว่าช่วงหลังรัฐประหาร การที่ราคาอาหารเพิ่มขึ้น 3.4% ในรอบ 6 เดือนล่าสุด แสดงว่าเพิ่มขึ้นไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม การที่ภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างฝืดเคืองในปัจจุบันจะส่งผลต่อการซื้ออสังหาริม ทรัพย์ เพราะต้องใช้จ่ายเงินกับเรื่องชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอาหารมากขึ้น ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส คาดว่าตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯปีนี้จะลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 10-14% ทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่าการพัฒนา

ที่มา : http://www.lokwannee.com/web2013/?p=268490

วันที่ 18 พ.ค. 60